พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการนวัตกรรมการพัฒนาสถาบันการศึกษา

7 เมษายน 2560 (ผู้ดูแลระบบ) ข่าวกิจกรรม

พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (Memorandum of Understanding) โครงการนวัตกรรมการพัฒนาสถาบันการศึกษา เพื่อสร้างความได้เปรียบในเชิงการแข่งขันบนเวทีโลก ระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กับ บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท แพคกอน จำกัด 

          เมื่อ 5 เม.ย. 60 ที่ ห้องประชุมหลูหุ้ย ชั้น 6 สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา นายชัยยุทธ สันทนานุการ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และดร.ภาคภูมิ ศรีธิมากุล ประธานกรรมการบริษัท แพคกอน จำกัด ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (Memorandum of Understanding) โครงการนวัตกรรมการพัฒนาสถาบันการศึกษา เพื่อสร้างความได้เปรียบในเชิงการแข่งขันบนเวทีโลก ระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กับ บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท แพคกอน จำกัด โดยมี ดร.ศิริชัย นามบุรี รองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ อาจารย์ปรีชา พังสุบรรณ ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา นายยงยุทธ์ พุทธพฤกษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริการลูกค้า กสท.เขตภาคใต้ และนายนคเรศ กระสายเงิน ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ร่วมเป็นสักขีพยานในครั้งนี้

          สำหรับพิธีลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ทั้งสามฝ่ายได้มีความร่วมมือกันจัดตั้ง โครงการนวัตกรรมการพัฒนาสถาบันการศึกษา เพื่อสร้างความได้เปรียบในเชิงการแข่งขันบนเวทีโลกของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ประกอบด้วยการพัฒนา 8 โครงการ คือ 1.การจัดผู้เชี่ยวชาญร่วมสอนในวิชาต่างๆ แบบ Remote Teaching 2.การจัดตั้งหลักสูตรฝึกงาน หรือ Corporate University 3.การสนับสนุนการสร้างธุรกิจ Start Up ผ่าน CAT Techno Farm 4.การให้บริการ eEducation Platform เพื่อรองรับการให้บริการเรียนการสอนผ่านออนไลน์ 5.การให้บริการพัฒนาโครงข่ายและอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อรองรับการพัฒนามหาวิทยาลัยไปสู่ Smart University 6.ให้บริการจัดตั้งร้านจำหน่ายอุปกรณ์ไอที และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนภายในมหาวิทยาลัย 7.การให้บริการ Contents และ Software เพื่อการศึกษา และ 8.การสร้างรายได้เสริมให้กับสถาบัน

          นอกจากนี้ การลงนามความร่วมมือนับว่าเป็นประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัยทั้งในด้านการพัฒนานักศึกษา การพัฒนาหลักสูตร การพัฒนามหาวิทยาลัย ตอบโจทย์กับแผนยุทธศาสตร์ 10 ปีของมหาวิทยาลัย ระหว่างปี พ.ศ.2560 – 2569 และเป็นไปตามนโยบายของประเทศไทยยุค Thailand 4.0 อีกทั้งยังเป็นการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไปสู่ความเป็น Smart University ต่อไป